ศูนย์ล้อ (Camber, Caster, Toe-in, Toe-out)

Camber, Caster, Toe-in, Toe-out

แคมเบอร์ แคสเตอร์ โทอิน โทเอ้าท์ (Camber, Caster, Toe-in, Toe-out)

การตั้งศูนย์ล้อรถยนต์ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องมุม-องศา ของล้อ (Wheel) ซึ่งจะทำให้ขับเคลื่อนไป ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ การตั้งศูนย์ล้อหน้า (Front wheel alignment) ที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมบังคับที่แม่นยำ

องค์ประกอบในการตั้งศูนย์ล้อ

1. มุมแคมเบอร์ (Camber angle) คือมุมที่แนวล้อทำมุมกับเส้นดิ่ง (ตั้งฉากกับพื้น) เมื่อมองมาจากทางด้านหน้ารถ ค่า “บวก” หมายถึงขอบบนของล้อและยางเบนออกทางด้านนอก ค่า “ลบ” ก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า camber ผิดไปจากปกติจะทำให้เนื้อยางด้านใดด้านหนึ่งสึกหรอมากกว่าอีกด้านหนึ่ง เช่น ถ้าตั้งค่า camber เป็น “ลบ” มากเกินไป เนื้อยางด้านในก็จะสึกมากกว่าด้านนอก

camber_04

camber_01

camber_03

มุมแคมเบอร์ ทำหน้าที่ต้านการเอียงข้างของรถขณะขับขี่ในทางโค้ง ลดรัศมีหมุนเลี้ยวลง เพื่อให้หมุนพวงมาลัยได้เบา ทำให้ไม่เกิดการคลอนตัวลูกปืนล้อที่ระยะฟรี และลดอาการล้อลื่น

2. มุมแคสเตอร์ (Caster angle) คือ มุมที่แนวแกนหมุนเลี้ยวทำกับเส้นตั้งฉากกับพื้น ถ้าขอบบนของแนวแกนหมุนเลี้ยวนี้เอนไปด้านหลังรถ ก็จะเป็น castor “บวก” และในทางตรงกันข้ามถ้าเอนไปด้านหน้าก็จะเป็น “ลบ” (ปกติแล้วมุมแมสเตอร์จะไม่เท่ากับศูนย์)

caster_03

caster_01
caster_02

มุมแคสเตอร์ ทำหน้าที่ทรงทิศทางด้วยตัวเอง เพื่อให้พวงมาลัยหมุนคืนกลับตำแหน่งทางตรงได้เอง หลังจากมีการเลี้ยว และทำให้การการทรงตัวได้ดี มุมแคสเตอร์ที่ผิดไปจากปกติ จะไม่ก่อปัญหาเรื่องการสึกหรอของยาง แต่จะทำให้น้ำหนักพวงมาลัย และการบังคับควบคุมรถในทางตรงผิดเพี้ยนไป ถ้ามุมแคสเตอร์มีค่าเป็น “บวก” มากเกินไป พวงมาลัยจะหนักขึ้น ถ้า castor เป็น “ลบ” มากไป พวงมาลัยจะเบาและจะมีความรู้สึกว่าหน้ารถ “ร่อน” ถ้ามุมแคสเตอร์ทั้งซ้ายและขวาผิดไปจากกันมาก พวงมาลัยจะถูกดึงไปด้านที่ “บวก” น้อยกว่า (เพราะมันเบากว่านั่นเองครับ)

หมายเหตุ
ทั้งมุม camber และ castor ไม่สามารถปรับตั้งได้ ถ้าผิดเพี้ยนไปมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีการชนมา ทำให้มีอะไรบางอย่างในระบบกันสะเทือนเสียหาย หักงอ ทำให้มุมดังกล่าวผิดไป

3. โทอิน (Toe-in) คือ ความแตกต่างของระยะระหว่างขอบหน้าและขอบหลังของล้อทั้งสองข้าง และวัดออกมาเป็นมุม หรือวัดเป็นนิ้ว ค่า toe in ที่ถูกต้องจะมีค่าเป็นศูนย์ นั่นคือล้อทั้งสองข้างขนานกัน

  • โทอิน จะมีค่าเป็นบวก (Positive) เมื่อระยะหน้ายางเอียงเข้าหากัน ตามทิศทางหน้ารถ (เมื่อมองจากด้านบน ลงสู่พื้นถนน)
  • โทอิน จะมีค่าเป็นลบ (Negative) เมื่อระยะห่างของยางด้านหน้ามากกว่า ระยะห่างของยางด้านหลัง
toein1
toein2

โทอินจะทำไม่ให้ล้อสั่น จากความต้านทางกลิ้ง ลดระยะหลวมของลูกหมากคันส่ง และทำให้ล้อรถ เคลื่อนที่ขนานไปอย่างคงที่ ค่า toe นี้จะมีผลกับการสึกของยางเช่นเดียวกับ caster โดย toe ที่บวกหรือลบมากไป จะทำให้ยางสึกเป็นลักษณะฟันเลื่อย ถ้ามุมแหลมของดอกยางชี้เข้าใน หมายถึง toe-in มากเกินไป ถ้าชี้ไปด้านข้างรถ ก็หมายถึง toe-out มากไป

4. โทเอ้าท์ (Toe-out) คือผลต่างของมุมเลี้ยวล้อหน้า ที่อยู่ด้านนอกวงเลี้ยว และด้านในวงเลี้ยว หรือรัศมีการเลี้ยวนั่นเอง เวลารถเลี้ยว ล้อหน้าทั้งสองก็จะหมุนไปตามกัน ล้อด้านนอก จะหมุนไปตามวงกลมที่มีรัศมียาวกว่าล้อใน ทำให้ล้อด้านในทำมุมมากกว่าล้อด้านนอก มุมโทเอ้าท์ จะทำให้ล้อหมุนเลี้ยวได้อย่างราบรื่น ทำให้จุดศูนย์กลางการหมุนเลี้ยว แต่ละล้อร่วมกัน ป้องกันการสึกหรอของยาง และอาการเสียงดังขณะเลี้ยวได้ระดับหนึ่ง

toeout

หมายเหตุก่อนจะตั้งศูนย์
ก่อนที่จะนำรถขึ้นตั้งศูนย์ล้อนั้นต้องทำการเช็คช่วงล่างอย่างละเอียดก่อน เพราะชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้นมีผลต่อมุมล้อทั้งนั้น สิ่งที่สมควรต้องทำการตรวจเช็คก่อนตั้งศูนย์ล้อคือ

  • ลูกหมากปีกนก ลูกหมากคันชัก หรือลูกหมากกันโคลง หลวมคลอนมั้ย
  • ยางกันโคลง ยางหนวดกุ้ง ยางสกรูกันโคลง สึกหรอหรือไม่
  • ลูกปืนล้อ แตกหรือเปล่า จารบีหล่อลื่นยังอยู่ดีหรือไม่
  • ช็อคอับ รั่วหรือเปล่า ยังคงทำงานได้ดีหรือไม่
  • สปริง ทรุด ยางรองสปริงฉีดขาด หรือเบ้าช็อคอับ ปกติดีหรือเปล่า
  • ลมยาง คู่หน้าหรือคู่หลังเท่ากันหรือไม่
  • โครงรถหรือแชสซีส์ บิดเบี้ยวหรือเปล่า

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีผลต่อมุมล้อเป็นอย่างมาก ถ้าเกิดการหลวมคลอนหรือเสื่อม การตั้งศูนย์ล้อ ก็จะไม่เห็นผลหรือดีขึ้นเพียงนิดเดียว แล้วก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น เพราะความคลาดเคลื่อนเพียงนิดเดียวก็มีผลแล้ว ดังนั้นถ้าตรวจสอบแล้วมีการหลวมคลอนของชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่ง จะต้องทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้นก่อน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด

นอกจากการตั้งศูนย์ล้อที่ถูกวิธีแล้ว ก็ควรจะ หมั่นตรวจสอบการสึกหรอของยางอย่างสม่ำเสมอด้วย เวลาที่ท่านล้างรถหรือว่างๆ ก็พิจารณาดูหน่อยว่ามันสึกหรอแบบปกติหรือเปล่า ถ้าเริ่มเห็นการสึกหรอที่ไม่สม่ำเสมอทั้งเส้น สึกเป็นบั้งๆ จ้ำๆ สึกเฉพาะริมนอก หรือสึกเฉพาะแนวกลาง ดูแล้วออกจะผิดปกติก็ควรจะแก้ไขโดยเร็ว

สุดท้ายนี้ ควรจัดการสลับยางด้วยทุก 8,000-10,000 กม. เพื่อให้การสึกหรอของยางเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเปลี่ยนยางแต่ละเส้นไม่ใช่ถูกๆ นะครับ