การดูแลรักษาหม้อน้ำ และฝาหม้อน้ำ
หม้อน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบายความร้อนให้กับน้ำที่ไปหล่อเย็นให้กับเครื่องยนต์ โดยอาศัยปั๊มน้ำเป็นตัวหมุนเวียนน้ำ โดยน้ำจะไหลเข้าด้านล่าง (ท่อยางหม้อน้ำล่าง) ซึ่งท่อน้ำจะต่ออยู่กับคอห่านตัวล่าง แล้วไหลผ่านโพรงต่างๆ ในเครื่องยนต์ กลับออกมาที่ด้านบน (ผ่านท่อยางหม้อน้ำบน) ซึ่งต่ออยู่กับคอห่านตัวบน กลับมาที่หม้อน้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยมีวาล์วน้ำ (เทอร์โมสตัท) ในการควบคุมอุณหภูมิของน้ำ
ในขณะที่ยังไม่ถึงอุณหภูมิที่กำหนด เพื่อให้น้ำในระบบร้อนเร็วขึ้นเพื่อลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ และในขณะที่ความดันเกินที่กำหนด น้ำในระบบก็จะดันออกถังพักน้ำผ่านฝาหม้อน้ำ และเมื่อความดันลดต่ำลง น้ำก็จะถูกดูดกลับจากถังพักน้ำเข้ามาใหม่ ในสภาพสุญญากาศ ในส่วนของความร้อนของน้ำ จะถูกระบายความร้อนโดยการไหลผ่านรังผึ้งของหม้อน้ำ และอาศัยพัดลมซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังงานจากเครื่องยนต์ในกรณีที่เครื่องยนต์วางตามยาวตัวรถ (รถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง) โดยความเร็วของพัดลมจะถูกควบคุมโดยฟรีปั๊ม (คลัตช์พัดลมหม้อน้ำ)
ในฟรีปั๊มจะเติมด้วย น้ำยาซึ่งมักเรียกกันว่า น้ำยาฟรีปั๊ม (Oil Silicon) ส่วนรถที่วางเครื่องตามขวางจะใช้พัดลมไฟฟ้าทำหน้าที่แทน (รถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า) โดยอาศัยสวิทส์พัดลม (ตรวจจับอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นที่ไหลกลับออกมา) ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของตัวพัดลม นอกจากนี้ในเครื่องยนต์อาจจะมีช่องที่ให้น้ำไหลออกไปเพื่อให้ความ อบอุ่นกับผู้ใช้รถในห้องโดยสาร (ในเมืองที่หนาว) สำหรับในเมืองร้อนจะใช้ยางอุดไว้ และมักเรียกกันว่า ยางอุดตาน้ำ บางท่านก็เรียกยางรองขาโต๊ะก็มี
สิ่งที่ควรตรวจสอบเป็นประจำคือ
-
- ท่อยางหม้อน้ำบน-ล่าง (ท่อน้ำบนจะมีอายุสั้นกว่าท่อน้ำล่าง เพราะอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า) ท่อน้ำที่หมดอายุจะบวมและแข็ง ท่อน้ำล่างอาจจะแฟ๊บเพราะแรงดูดจากปั๊มน้ำ
- วาล์วน้ำ (ถ้าเสีย จะทำให้อุณหภูมิของรถขึ้นสูงผิดปกติ)
- ฝาหม้อน้ำ ถ้าเสียหรือรั่ว จะทำให้ไม่เกิดสภาพสุญญากาศ เมื่อน้ำถูกดันออกมาถังพักจะไม่ถูกดูดกลับเข้าไป และจะต้องระมัดระวังในการเปลี่ยนด้วย เพราะฝาหม้อน้ำบางรุ่นใช้แทนกันไม่ได้
- น้ำในถังพักน้ำ จะต้องอยู่ที่ระดับ FULL
- สายยางจากหม้อน้ำไปยังถังพักน้ำ
- สวิตช์พัดลม (ในกรณีที่ใช้พัดลมไฟฟ้า)
- ฟรีปั๊ม (คลัตช์พัดลม), น้ำยาฟรีปั๊ม
- พัดลมไฟฟ้า (ทำงานโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ทำงานให้ตรวจเช็คฟิวส์เป็นอันดับแรก)
- หม้อน้ำ
- ยางอุดตาน้ำ (จะบวม)
- น้ำยาหล่อเย็น (ใช้เติมเพื่อเพิ่มจุดเดือดของน้ำ และป้องกันสนิม)
- ใบพัดลมหม้อน้ำ ไม่แตกร้าวเสียหาย
- การรั่วไหลของน้ำบริเวณหม้อน้ำ ก๊อกถ่ายน้ำ(หางปลาหม้อน้ำ)
- คอห่านบน-ล่าง (จะผุตามกาลเวลา)
- แป๊บราวน้ำ
- ถังพักน้ำ (จะมีช่องหายใจด้วย)
- ปั๊มน้ำ (จะมีอายุการใช้งาน)
- เกจความร้อนในห้องโดยสาร
- สายพานปั๊มน้ำ
*** ให้เพื่อนๆ ลองคิดเองนะครับว่า อุปกรณ์แต่ละอย่างถ้าทำงานไม่ปกติ จะเป็นอย่างไร
หมายเหตุ
- ควรเติมน้ำยาหล่อเย็น เพื่อเพิ่มจุดเดือดของน้ำและป้องกันสนิม
- ไม่ควรตรวจเช็คเฉพาะน้ำในถังพักน้ำเท่านั้น จะต้องเปิดฝาหม้อน้ำออกมาตรวจเช็คด้วย
- ไม่ควรถอดวาล์วน้ำทิ้ง
- ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำขณะที่เครื่องยนต์ยังร้อน ให้จอดพักไว้ประมาณ 30 นาที แล้วถึงจะเปิด
- ท่อยางหม้อน้ำบวมหรือแตก อาจเนื่องมาจากการใช้ฝาหม้อน้ำที่ไม่ได้คุณภาพ คือมีสปริงลิ้นระบายความดันของหม้อน้ำแข็งเกินไป หรือสปริงลิ้นอ่อนเกินไปก็จะทำให้น้ำในหม้อน้ำถูกดันไปยังถังพักได้ง่าย และน้ำในหม้อน้ำเดือดเร็วขึ้น
วีธีเปิดฝาหม้อน้ำขณะเครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ ในขณะที่เครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ จะมีความดันเกิดขึ้นในระบบหล่อเย็น ถ้าเราเปิดฝาหม้อน้ำทันทีทันใด จะทำให้น้ำร้อนในระบบหล่อเย็นพุ่งออกมา ถ้าจำเป็น ต้องเปิดในขณะเครื่องยนต์ร้อน จึงต้องมีวิธีการดังต่อไปนี้
- ใช้ผ้าคลุมปิดฝาหม้อน้ำไว้ แล้วค่อยๆ คลายฝาหม้อน้ำออกล๊อคที่หนึ่ง (จะมีอยู่สองล๊อค) เพื่อให้ความดันไหลออก รอจนไอน้ำไหลออกจนหมด
- คลายฝาหม้อต่อไป จนถึงล๊อคที่สอง ถ้าไม่มีไอน้ำไหลออกมาอีก แสดงว่าความดันลดลงแล้ว
- ค่อยๆ เปิดฝาหม้อน้ำออกมา
ฝาหม้อน้ำ
- ฝาหม้อน้ำที่ใช้เป็นฝาแบบใช้ความดัน เพื่อให้มีความดันในระบบสูงกว่าความดันบรรยากาศเล็กน้อย ทำให้ระบบทำงานได้ที่ความร้อนสูงกว่าไม่มีความดัน และช่วยให้จุดเดือดของน้ำเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดินทางขึ้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล
- ฝาหม้อน้ำแบบความดันที่ใช้โดยทั่วไป (ในรถบางรุ่น) จะเพิ่มความดันในหม้อน้ำเป็น 0.9 กก./ตร.ซม. (14 ปอนด์/ตารางนิ้ว) ทำให้น้ำมีจุดเดือดที่ 118 องศาเซลเซียส เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการหล่อเย็น
- ฝาหม้อน้ำจะมีวาล์วอยู่ 2 ตัว วาล์วตัวแรก(ใหญ่) จะเปิดเมื่อความดันในระบบถึงจุดกำหนด และดันน้ำออกไปยังถังพักน้ำ วาล์วตัวที่สอง(เล็ก) จะดูดน้ำจากถังพักน้ำกลับมาที่ระบบเมื่อความดันในระบบต่ำลง
ฝาหม้อน้ำชำรุด
- ซีลยางชำรุด ทำให้น้ำเดือดเร็วและน้ำในถังพักน้ำสำรองจะไม่ไหลกลับไปยังหม้อน้ำ ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด
- สปริงวาล์วระบายความร้อนอ่อนเกินไป เนื่องจากใช้งานมานานทำให้น้ำเดือดเร็ว เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน
- วาล์วสุญญากาศชำรุด ทำให้น้ำในถังพักน้ำไม่ถูกดึงกลับไปยังหม้อน้ำ และทำให้ภายในหม้อน้ำเกิดสุญญากาศ ความดันบรรยากาศ ภายนอกจะดันให้หม้อน้ำยุบ และท่อยางหม้อน้ำยุบตัว